วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประเพณีผีตาโขน อ.ด่านซ้าย จ.เลย



ในฐานะที่บ้านของดิฉันอยู่ใกล้อำเภอด่านซ้าย จ.เลย ดิฉันก็มีโอกาสได้ไปเที่ยวประเพณีผีตาโขน ซึ่งมีประชาชนไปเที่ยวชมงานทั้งคนไทยและชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ภายในงานมีขบวนงานผีตาโขนเป็นจำนวนมาก มีทั้งหน้ากากผีตาโขนของเด็กและผู้ใหญ่ เป็นสินค้าจำหน่าย มีคนสอนทำหน้ากากผีตาโขน ของที่ระลึก เพื่อเป็นของฝาก สนุกมาก ๆ ถ้ามีัโอกาสอยากให้ทุกคนไปเที่ยวกันดูนะค่ะ รับรองไม่ผิดหวัง ดิฉันอยากให้คนไทยได้รู้จักประเพณีดีๆ ดิฉัน จึงขอนำประเพณีผีตาโขน มาเป็นเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อย แก่ผู้ที่สนใจนะค่ะ


ประเพณีผีตาโขน


ผีตาโขน เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคอีสานของประเทศไทย เป็นเทศกาลที่เกิดขึ้นในเดือน 7  ซึ่งมักจัดมากกว่าสามวันในบางช่วงระหว่างเดือนมีนาคม และกรกฎาคม โดยจัดขึ้นในวันที่ได้รับเลือกให้จัดขึ้นในแต่ละปีโดยคนทรงประจำเมือง ซึ่งงานบุญประเพณีพื้นบ้านนี้มีชื่อเรียกว่า บุญหลวง  โดยแบ่งออกเป็นเทศกาล ผีตาโขน, ประเพณีบุญบั้งไฟ และงานบุญหลวง (หรือ บุญผะเหวด)
ผีตาโขน นั้น เดิมมีชื่อเรียกว่า ผีตามคน เป็นเทศกาลที่ได้รับอิทธิพลมาจากมหาเวสสันดรชาดกชาดกในทางพระพุทธศาสนา ที่ว่าถึงพระเวสสันดร และพระนางมัทรี จะเดินทางออกจากป่ากลับสู่เมืองหลวง บรรดาสัตว์ป่ารวมถึงภูติผีที่อาศัยอยู่ในป่านั้น ได้ออกมาส่งเสด็จด้วยอาลัย
ซึ่งวันแรกจะเป็นเทศกาลผีตาโขน ซึ่งเรียกวันนี้ว่า วันรวม (วันโฮม) โดยจะมีพิธีเบิก พระอุปคุตต์ ในบริเวณระหว่างลำน้ำหมันกับลำน้ำศอก ส่วนวันที่สองของเทศกาลดังกล่าวจะมีพิธีจุดบั้งไฟบูชาพร้อมด้วยเครื่องแต่งกายที่หลากหลาย รวมถึงการแข่งขันเต้นรำตลอดจนขบวนพาเหรด ส่วนในวันที่สามและวันสุดท้ายจะมีการให้ชาวบ้านฟังเทศน์ ทั้งนี้ ผีตาโขนยังได้รับการนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ และฉายาประจำทีม สโมสรฟุตบอลเลย ซิตี้ เช่นกัน
และประเพณียังคงมีความเชื่อกันว่า สำหรับคนที่เล่นหรือมีการแต่งตัวเป็นผีตาโขนใหญ่ ต้องถอดเครื่องแต่งกายผีตาโขนใหญ่ออกให้หมดและนำไปทิ้งในแม่น้ำหมัน ห้ามนำเข้าบ้าน เป็นการทิ้งความทุกข์ยากและสิ่งเลวร้ายไป และรอจนถึงปีหน้าจึงค่อยทำเล่นกันใหม่

ประวัติและความเป็นมา 
          ปราชญ์ท้องถิ่น ครูภูมิปัญญาและนักการศึกษาหลายท่านที่ศึกษาวิจัยเรื่องราวของผีตาโขนในแง่มุมต่างๆ ล้วนมีข้อสรุปตรงกันว่าประเพณีผีตาโขน เป็นการละเล่นที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรม เพื่อบวงสรวงบูชาติดต่อกับผู้ชมดูการละเล่น คือ วิญญาณผีบรรพชน ที่กลุ่มชนชาติพันธุ์ไท-ลาว เชื่อถือร่วมกันว่าบรรพชน คือ ต้นตระกูลเผ่าพันธุ์ผู้ที่สร้างบ้านแปงเมือง บรรพชนเมื่อตายเป็นผี จึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่น่าเกรงขาม มีอำนาจที่จะดลบันดาลให้ความอุดมสมบูรณ์ หรือความหายนะแก่บ้านเมืองได้ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ เพื่อความอุดมสมบูรณ์พูนสุขของบ้านเมือง เมื่อถึงงานบุญประเพณีสำคัญ ๆ ตามฮีตประเพณี จึงจะต้องทำการละเล่นเต้นฟ้อนผีตาโขนเพื่อเซ่นสรวงบูชาให้เป็นที่ ถูกอกถูกใจแก่ผีบรรพชน การละเล่นผีตาโขนจึงเป็นการละเล่นที่มีมาแต่โบราณ และผ่านการ สืบทอดทางพิธีกรรมเป็นสายยาวจากรุ่นต่อรุ่นมาจนถึงปัจจุบัน ผีตาโขนจึงเป็นการละเล่นส่วนหนึ่งในงานบุญหลวงของอำเภอด่านซ้าย หรือเมืองด่านซ้ายในอดีต นับเป็นการละเล่นที่นำพาให้เกิดความสนุกสนานและความบันเทิงเป็นหลัก เช่นกันกับการเล่นทอดแห ขายยา และทั่งบั้ง อันเป็นสีสันแห่งการเฉลิมฉลองในงานบุญหลวงและโดยเฉพาะในพิธีอันเชิญพระเวสสันดร และนางมัทรีเข้าเมือง ตามฮีตเดือนสี่ (บุญเผวส) ของชาวอีสาน ซึ่งชาวด่านซ้าย 


ได้รวมเอางานบุญฮีตเดือนสี่(บุญเผวส) ฮีตเดือนห้า (บุญสงกรานต์) ฮีตเดือนหก (บุญบั้งไฟ) และฮีตเดือนเจ็ด (บุญซำฮะ) มาจัดขึ้นพร้อมกันในช่วงเดือนเจ็ดของทุกปี ซึ่งมักจะอยู่ระหว่างปลายเดือนมิถุนายนถึงช่วงต้นเดือนกรกฏาคม ทั้งนี้เจ้าพ่อกวน (ผู้นำทางจิตวิญญาณของท้องถิ่น)จะเป็นผู้กำหนดวันโดยผ่านพิธีการเข้าทรงล่วงหน้า คำว่า ผีตาโขน ตามความเห็นของเจ้ากวน (ถาวร เชื้อบุญมี) น่าจะมาจากการที่บรรดาผีเหล่านั้น สวมหน้ากากคล้ายลักษณะของโขนละคร แต่เดิมบางคนเรียกว่าผีตาขน แต่ก็หาความหมายไม่ได้ชัดแจ้ง และจากคำบอกเล่าของเจ้าพ่อกวนในขณะเข้าทรงว่า ผีตามคนมาในงานบุญพระเวส จึงเรียกผีตามคนต่อมาจึงเพี้ยนเป็นผีตาโขน จากการศึกษาวิจัยเรื่องพัฒนาการประเพณีผีตาโขน ของ สนอง อุปลาพบว่าประเพณีผีตาโขนเป็นการละเล่นที่เกิดจากความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณของผีบรรพชน สืบสานมาจากการละเล่นปู่เยอ ย่าเยอของชาวหลวงพระบาง แต่เนื่องจากการละเล่น ผีตาโขน อำเภอด่านซ้าย ต้องผ่านพ้นกับกาลเวลาอันยาวนาน และฟันฝ่ากับระบบการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมกับคนหลากหลายกลุ่มชน ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องและสัมพันธ์กับวิถีชีวิตในชุมชน จึงมีการปรับเปลี่ยนผสมผสานให้เป็นการละเล่นที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น และมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย 


ประเพณีผีตาโขนกับวิถีชุมชน 
          จากพัฒนาการประเพณีผีตาโขนที่กล่าวมา ซึ่งเริ่มต้นจากการละเล่นที่เป็นองค์ประกอบของขนบธรรมเนียม ประเพณี มาบัดนี้การละเล่นผีตาโขน เป็นได้ทั้ง วิถีชีวิต อัตลักษณ์บ่งบอกชาติพันธุ์ สินค้า และกลไกของอำนาจ ที่จะส่งผลกำหนดทิศทางของวิถีชุมชนได้อีกด้วย ดังนี้


  1. ประเพณีผีตาโขนกับขนบธรรมเนียมประเพณีและศาสนา จากการที่ชาวอำเภอด่านซ้ายจะต้องกระทำพิธีกรรมเกี่ยวกับองค์พระธาตุศรีสองรัก และพิธีกรรมเกี่ยวกับวิญญาณผี เจ้านาย ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามฮีต 12 อันได้แก่ ฮีตเดือน 4 บุญพระเวส ฮีตเดือน 5 บุญแห่พระวันสงกรานต์ ฮีตเดือน 6 บุญบั้งไฟ และฮีตเดือน 7 บุญซำฮะ การละเล่นผีตาโขนจึงมีส่วนส่งเสริมให้นำฮีตที่ขาดไป มาจัดหลอมรวมเป็นบุญเดียวกันเรียกว่า บุญหลวง โดยอาศัย ความสนุกสนานช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด จึงทำให้บุญที่เกิดจากการรวมกันนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี ส่วนผลที่เกิดกับศาสนา มีส่วนส่งเสริมให้ศาสนาเข้ามามีอิทธิพลต่อชุมชน ในแง่ทางธรรมะและการปฏิบัติทางศาสนา เสริมสร้างให้มีการผสมผสานการนับถือพุทธศาสนากับความเชื่อในวิญญาณของบรรพชนให้เกิดการบูรณาการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้ชุมชนไม่มีความขัดแย้ง ทั้งยังเป็นกลไกอย่างหนึ่งที่ช่วยควบคุมสังคมให้เกิดความสงบเรียบร้อย 
  2. ประเพณีผีตาโขนกับสังคมวัฒนธรรม จากการละเล่นผีตาโขน ที่เกิดจากความเชื่อในวิญญาณผีเจ้านายอันเป็นความเชื่อโดยการสั่งสมมาแต่สังคมบุพกาล ได้ก่อให้เกิดผลดีแก่สังคมอำเภอด่านซ้ายในทุกๆ ด้าน เช่น ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มกัน ทำให้ชุมชนมีบรรทัดฐานและ ค่านิยมร่วมกัน รู้ว่าคนในสังคมมีสถานภาพและบทบาทที่แตกต่างกัน และมีส่วนในการอบรม ขัดเกลาจิตใจคนในสังคม ส่งผลให้วัฒนธรรมไทด่านซ้าย เช่น ภาษาท้องถิ่น จารีตประเพณี วิถีชีวิต ไม่เปลี่ยนแปลงสูญหายไป ทำให้รู้จักรากเหง้าและวัฒนธรรมของตนเอง และก่อให้เกิดความภูมิใจและผูกพันกับท้องถิ่น 
  3. ประเพณีผีตาโขนกับเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว หลังจากที่ได้รับการบรรจุให้เข้าในแผนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การละเล่นผีตาโขน ได้ส่งผลทางเศรษฐกิจอย่างสูงต่อชาวอำเภอด่านซ้าย โดยทำให้เกิดรายได้จากการจ้างงาน การบริการอาหารที่พักอาศัย การบริการขนส่ง และการจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมพื้นเมือง แต่ก็มีข้อเสีย คือทำให้สินค้าและบริการต่างๆ ในเวลาต่อมามีราคาสูงขึ้นกว่าเดิม ส่วนในด้านการท่องเที่ยว ได้ส่งผลให้เกิดการท่องเที่ยวแบบ โฮมสเตย์ขึ้น และยังสนับสนุนการท่องเที่ยวในด้านอื่นๆ ทั่วทั้งจังหวัดเลย เช่น ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ ภูเรือ ภูหลวง ภูกระดึง การท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม เช่น จิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดโพธิ์ชัย พระธาตุดินแทนอำเภอนาแห้ว พระธาตุสัจจะอำเภอท่าลี่ เป็นต้น ประเพณีผีตาโขน เมื่อเป็นการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามแม้จะมีประโยชน์นานัปการ แต่ก็มีผลเสียคือก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นมีความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นและวัฒนธรรมการท่องเที่ยว ทำให้ ค่านิยมของชาวอำเภอด่านซ้ายเจ้าของประเพณีผีตาโขนเกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย


องค์ประกอบของผีตาโขน


ผีตาโขนใหญ่ 
ทำเป็นหุ่นรูปผีทำจากไม้ไผ่สานมีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดาประมาณ 2 เท่า ประดับตกแต่งรูปร่างหน้าตาด้วยเศษวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เวลาแห่ คนเล่นจะต้องเข้าไปอยู่ข้างในตัวหุ่น แต่ละปีจะทำผีตาโขนใหญ่เพียง 2 ตัวผีตาโขนชาย1ตัว หญิง1ตัว สังเกตจากเครื่องเพศปรากฏชัดเจนที่ตัวหุ่น ผู้มีหน้าที่ทำผีตาโขนใหญ่จะมีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น คนอื่นไม่มีสิทธิ์ทำต้องได้รับอนุญาตจากผีหรือเจ้าก่อนซึ่งต้องทำทุกปีหรือทำติดต่อกันอย่างน้อยเป็นเวลา3ปี

ผีตาโขนเล็ก ทุกคนไม่ว่าเด็กผู้ใหญ่ หญิงหรือชาย มีสิทธิ์ทำและเข้าร่วมสนุกได้ทุกคน แต่ผู้หญิงไม่ค่อยเข้าร่วมเพราะเป็นการเล่นค่อนข้างผาดโผนและซุกซน




หน้ากากผีตาโขน
           หน้ากากผีตาโขนเล็ก ทำจากส่วนที่เป็นโคนของก้านมะพร้าวและหวดนึ่งข้าวเหนียว โดยนำมาเย็บติดกันแล้วเขียนหน้าตา ทำจมูกเหมือนผี ส่วนชุดแต่งกายของผีมักมีสีฉูดฉาดบาดตา โดยอาจเย็บเศษผ้าเป็นเสื้อตัวกางเกงตัวหรือเย็บเป็นชุดติดกันตลอดตัวก็ได้ ข้อสำคัญคือต้องคลุมร่างกายให้มิดชิด หน้ากากผีตาโขนสมัยดั้งเดิมจะทำจากหวดเก่าที่ใช้แล้ว ในส่วนที่ครอบศีรษะจะเย็บติดกับโคนของก้านมะพร้าว ส่วนที่เป็นใบหน้าจะใช้ไม้นุ่นทำจมูกสั้นคล้ายจมูกคน ใช้สีที่ได้จากธรรมชาติ จะไม่ปรากฏลวดลายที่เด่นชัดเพราะเน้นให้หน้ากากมีความลึกลับน่ากลัว ส่วนหน้ากากผีตาโขนสมัยกลางนับตั้งแต่หน่วยงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้การสนับสนุนในปี พ.ศ.2531มีความเปลี่ยนแปลงจากสมัยดั้งเดิม โดยนอกเหนือจากการนำหน้ากากผีตาโขนมาเล่นตามจุดประสงค์หลักดังที่กล่าวมาแล้ว ยังได้มุ่งการทำหน้ากากผีตาโขนเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และดึงดูดความสนใจ ตลอดจนเน้นผลทางธุรกิจจากนักท่องเที่ยว หน้ากากผีตาโขนในสมัยนี้จึงมีความสวยสดงดงามละเอียดและประณีตขึ้นจากเดิมหวดที่ใช้ครอบศีรษะจะใช้หวดใหม่ ส่วนใบหน้ากากผีตาโขนมีความยาวขึ้น รวมทั้งจมูกที่โค้งงอคล้ายงวงช้าง สีที่ใช้จะมีทั้งสีน้ำพลาสติก สีน้ำมันซึ่งให้ความมันวาวและคงทนด้านความสัมพันธ์ของหน้ากากผีตาโขนกับวิถีชุมชนอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย พบว่าหน้ากากผีตาโขนจะมีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก เพราะมีความเชื่อว่าการจัดทำหน้ากากผีตาโขนเข้าร่วมแสดงในงานของทุกปีเมื่อเสร็จแล้วจะเป็นการปล่อยผีสาง และยังปล่อยทุกข์โศกให้ไหลไปตามแม่น้ำด้วย ด้านระบบรัฐศาสตร์จะมีความสัมพันธ์ที่คนในท้องถิ่นแต่ละคน แต่ละหน่วยงานจะเข้าใจและทราบบทบาทหน้าที่ของตนเองหรือของกลุ่มที่มีการแบ่งงานและหน้าที่กันทำหน้ากากผีตาโขนเพื่อเข้าร่วมแสดง โดยไม่มีการขัดแย้งกันในทางปฏิบัติก่อให้เกิดความสามัคคีของชุมชนด้านระบบวิทยาศาสตร์จะมีความสัมพันธ์ในลักษณะของการแสดงออกถึงภูมิปัญญาชาวบ้านที่รู้จักการนำเอาธรรมชาติมาจัดสร้างเป็นผลงาน พร้อมการปรับธรรมชาติให้มีความคงอยู่ในเชิงนิเวศน์ตลอดจนการดำเนินการทำ และผลิตหน้ากากผีตาโขนรูปแบบของจริงและรูปแบบของที่ระลึกนอกจากนี้หน้ากากผีตาโขนยังส่งอิทธิพลต่อความคิด ความรู้สึกของชาวจังหวัดเลย โดยส่วนรวมที่มีการใช้เป็นสื่อสัญลักษณ์อันแสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด ในการรับรู้ของคนทั่วไปจะเข้าใจว่า หน้ากากผีตาโขน คือ สื่อศิลป์ที่แสดงออกทางความเชื่อเกี่ยวกับผี เกี่ยวกับความลึกลับน่ากลัวหรือสิ่งไม่ดี แต่อีกด้านหนึ่งหน้ากากผีตาโขนจัดทำว่าเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมใจ ความพร้อมเพรียง ความสมัครสมานสามัคคีและความภาคภูมิใจ และการสืบสานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชุมชนให้ปรากฏแก่ชาวโลกสืบไป



หมากกะแหล่ง คือ เครื่องดนตรีรูปร่างคล้ายกระดิ่งหรือกระดึงแขวนคอวัว ผีตาโขนจะใช้หมากกะแหล่งแขวนติดบั้นเอวเมื่อเดินโยกตัวหรือเต้นเป็นจังหวะ ขย่มตัวสายสะโพกเสียงหมากกะแหล่งก็จะดังเสียงน่าฟังและน่าสนุกสนาน




ดาบไม้ เป็นอาวุธประจำกายผีตาโขนไม่ได้เอาไว้รบกัน แต่เอาไว้ควงหลอกล่อและไล่หยอกล้อสาวๆ และเด็กๆ จนต้องวิ่งหนีกันจ้าละหวั่น ทั้งอายทั้งขำ บางรายร้องไห้แต่ไม่มีใครถือสา เพราะเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมา เหตุที่วิ่งหนีเพราะปลายดาบนั้นแกะสลักเป็นรูปอวัยวะเพศชายแถมทาสีแดงให้เห็นอย่างเด่นชัด การเล่นแบบนี้ไม่ถือเป็นเรื่องหยาบ หรือลามกเพราะมีความเชื่อกันว่าหากเล่นตลกและนำอวัยวะเพศชายหญิงมาเล่นมาโชว์ในพิธีแห่และงานบุญบั้งไฟจะทำให้พญาแถนพอใจ ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ 




ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก
       http://allknowledges.tripod.com/phitakhon.html
       http://www.baanjomyut.com/library_2/phi_ta_khon/01.html
       http://www.google.com/search?hl=th-     TH&tbm=isch&q=%E0%B8%9C%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%82%E0%B8%99